ประเด็นร้อน

ปฏิรูปตำรวจ หมดเวลาปฏิลวง!

โดย ACT โพสเมื่อ May 22,2017

 ความเดือดร้อนของประชาชนในขณะนี้ที่สำคัญคือปัญหาเศรษฐกิจข้าวของแพงเงินทองหายาก เศรษฐีมีเงินและข้าราชการโดยเฉพาะทหารตำรวจผู้ใหญ่อาจไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่คนส่วนใหญ่ที่หาเช้ากินค่ำทำงานทั้งวันก็ยังไม่พอกินพอใช้!

          
ประเทศไทยมีผืนดินอุดมลมฟ้าอากาศเหมาะสม แต่เหตุใดผู้คนจำนวนมากจึงยากจนกันดักดาน ช่องว่างระหว่างทางเศรษฐกิจห่างเป็นอันดับสามของโลกรองจากอินเดียและรัสเซีย
เรียกว่าเป็น "ความยากจนของผู้คนบนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์"
มันเป็นไปได้อย่างไร? ต้องมีปัญหาในเชิงระบบและโครงสร้างอย่างหนึ่งอย่างใดแน่?
ช่องว่างทางเศรษฐกิจแม้กระทั่งสังคมดังกล่าว มีสาเหตุมาจากระบบกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งการทุจริตฉ้อฉลของข้าราชการผู้ใหญ่ แต่ละคนสะสมทรัพย์สมบัติกันมากมายใช้ฟุ่มเฟือยได้ยันลูกหลาน
          
ไม่มีการตรวจสอบดำเนินคดียึดทรัพย์อย่างจริงจัง?
ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรมภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันนั้น ยังไม่เคยมีใครประเมิน!
แต่กรุงเทพโพลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสรุปว่า กว่าร้อยละ 76.8 ไม่เชื่อมั่นเรื่องทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
          
นั่นหมายความว่าประชาชน 52 ล้านคนจาก 67 ล้านคน ไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศ
เป็นสัญญาณอันตรายต่อความมั่นคงของชาติอย่างยิ่ง!หลังยึดอำนาจ องค์กรตำรวจเป็นความสำคัญลำดับแรกที่ประชาชนเรียกร้องต้องการให้มีการปฏิรูปมากที่สุด  มีการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติประกอบด้วยตัวแทนประชาชนทุกจังหวัดร่วมพิจารณา
          
สุดท้าย สปช.ได้มีมติให้โอนตำรวจ 9 หน่วยไปให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบดำเนินการ รายงานไปยังนายกรัฐมนตรีแต่ปลายปี 2558
แต่จนกระทั่งป่านนี้ ตำรวจแห่งชาติก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมตามมติดังกล่าวแต่อย่างใด?  ส่วนการปฏิรูปงานสอบสวนนั้น ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง.
          
(2) ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม......สร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา   การปฏิรูปตามแนวทางนี้ ได้ถูกกำหนดเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งขยายผลดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมตามมาตรา 260 ประกอบด้วย
          (1) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง มีความรู้ความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์ และ ไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจมาก่อน เป็นประธาน
          (2) ผู้เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตำรวจซึ่งอย่างน้อยต้องมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรวมอยู่ด้วย มีจำนวนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
          (3) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ ความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์ และไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจมาก่อน มีจำนวนเท่ากับกรรมการตาม (2)
          (4) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย  ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม  และอัยการสูงสุด เป็นกรรมการ
          ให้ดำเนินการแล้วเสร็จในหนึ่งปี เพื่อให้ตำรวจมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ความหวังในการปฏิรูปตำรวจทั้งของประชาชนและตำรวจผู้น้อยส่วนใหญ่ 

นอกจากต้องการให้หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีดำเนินการอย่างเด็ดขาดตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ซึ่งเวลานี้ดูจะริบหรี่เต็มที!
          
ความหวังต่อไปก็อยู่ที่คณะกรรมการชุดนี้ว่าจะมีใครเป็นประธาน โดยเฉพาะคณะกรรมการตามข้อ (3) ว่าจะถูกเลือกสรรกันอย่างไร?
แต่ละคนจะมีความเข้าใจต่อปัญหาตำรวจ มีความเข้มแข็งและกล้าหาญทางจริยธรรมมากน้อยเพียงใด?
ถ้าแต่ละคนยังหลงประเด็นเรื่องคนน้อย งบประมาณขาด อำนาจไม่พอ การปฏิรูประบบตำรวจและงานสอบสวนที่แท้จริงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ คนไทยต้องทนรับกรรมกันต่อไปอีกนานจนกว่าประชาชนจะมีอำนาจอย่างแท้จริง

การปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มจากความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ปัญหาไม่ได้เกิดจากเรื่องที่ชอบโฆษณากันว่าขาดแคลนสารพัด ตั้งแต่คนน้อย เงินเดือนต่ำ หรืองบประมาณไม่พอแต่อย่างใด
ซ้ำร้ายบางเรื่องยังมีมากมายเกินจำเป็น! เช่น เรื่องคน ระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.ขึ้นไปจะมีตำรวจถูกสั่งให้มาช่วยราชการนั่งหน้าห้องคอยตรวจแฟ้มตั้งแท่นให้ลงชื่อ ชงน้ำชากาแฟเสิร์ฟอาหารหวานคาวและทำธุระส่วนตัวกันมากมายหลายสิบคน
          
ส่วนคนที่เกษียณ ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่ามีจำนวนรวมเท่าใด ได้มีระเบียบให้นำตำรวจระดับต่างๆ ไปรับใช้ที่บ้านได้สองสามคนจนตาย เคยมีผู้คำนวณไว้ว่า ต้องใช้งบประมาณเพื่อการนี้แต่ละคนไม่ต่ำกว่าสิบห้าล้าน ไม่มีหน่วยราชการไหนในโลกเขาทำกัน แม้กระทั่งทหารก็ไม่มีการออกระเบียบให้ทำเช่นนี้ได้!
ยังไม่นับตำรวจทั้งหญิงชายที่นั่งหน้าห้องพลตำรวจโทและตรีที่ตั้งเป็น สำนักงานนอกกฎหมาย รวมทั้งไปเดินตามคอยรับใช้ผู้มีอำนาจอีกมากมาย

รถจักรยานยนต์ไทเกอร์ชื่อฟังน่ากลัวที่ซื้อมาถึงสองหมื่นคัน ส่วนใหญ่กลายเป็นรถที่ใช้ไม่ได้ ทั้งไม่ปลอดภัย ไม่มีอะไหล่และกินน้ำมันไม่แพ้รถเก๋ง กองเป็นเศษเหล็กอยู่ตามโรงพักมากมายหลายปี ตำรวจผู้น้อยต้องไปซื้อรถจักรยานยนต์มาขี่ปฏิบัติหน้าที่แทน!
          
รถปิกอัพที่เช่ามาอ้างว่าจะใช้เป็นรถสายตรวจเพื่อวิ่งตรวจทั้งวันทั้งคืนให้คุ้มค่า หลายแห่งกลายเป็นรถประจำตำแหน่งประจำตัวตำรวจผู้ใหญ่ รถตู้ติดสัญญาณไฟฉุกเฉินได้กลายเป็นรถทัศนาจรตำรวจใช้ท่องเที่ยวหรือรับ-ส่งลูกเมียประชาชนพบเห็นกันจนชินตา รถห้องขังสีดำที่เช่ามาส่วนใหญ่ก็จอดระเกะระกะไม่ได้ใช้เต็มไปหมด!
ที่บอกว่าตำรวจทุกคนต้องทำงานกันยี่สิบสี่ชั่วโมงนั้น  ก็เป็นการโกหกหลอกลวงทั้งสิ้น เพราะตำรวจฝ่ายอำนวยการและหัวหน้าหน่วยทุกแห่งนั้น ตกดึกก็นอนกันทุกคน
ส่วนผู้ที่เข้าเวรก็มีช่วงเวลาพักผ่อนตามวงรอบไม่ต่างจากแพทย์พยาบาล การไฟฟ้า ประปาและบุคลากรอีกสารพัดหน่วยก็เป็นเช่นนั้น

ข้าราชการโดยเฉพาะหัวหน้างานไม่ว่าจะเป็นอธิบดี ผู้ว่าฯ นายอำเภอ หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาล ทุกคนล้วนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ยี่สิบสี่ชั่วโมงด้วยกันทั้งสิ้น แต่ไม่มีใครทำงานยี่สิบสี่ชั่วโมงอย่างที่ชอบพูดกันแต่อย่างใด
          
ตำรวจนั้นเป็นงานรักษากฎหมายและความสงบในชุมชน ตามสายงานต้องสังกัดกระทรวงมหาดไทยอยู่ใต้การบังคับบัญชาของ หัวหน้าหน่วยการปกครองท้องถิ่น เหมือน ผบ.ตร.ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี
          
ต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ไปจนกำนันและ ผู้ใหญ่บ้าน ที่แต่ละคนทำงานกันยี่สิบสี่ชั่วโมงจริงยิ่งกว่าตำรวจหน่วยใด   ประชาชนไปเคาะประตูบ้านยามวิกาลให้ตามจับคนร้ายได้   รัฐจ่ายเงินเดือนให้แค่เจ็ดพันเท่านั้น! ส่วนการสอบสวน แท้จริงไม่ใช่งานตำรวจ เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้มีหน้าที่ตรวจตราป้องกันการกระทำผิดกฎหมายอะไร
          
การปล่อยให้งานสอบสวนอยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจแห่งชาติ โดยไม่มีองค์กรใดสามารถตรวจสอบระหว่างสอบสวนได้ไม่ว่าจะเป็นอัยการหรือนายอำเภอแม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมต่อประชาชนอย่างมหันต์!
          
นี่คือปัญหาสำคัญร้ายแรงที่ต้องปฏิรูปแต่ระยะนี้กลับมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มอดีตตำรวจผู้ใหญ่ที่ คสช.แต่งตั้งให้เป็นทั้ง สนช. และ สปท. จะเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงาน ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม บอกว่าจะได้ทำงานสอดคล้องกับอัยการและศาล
          
ศาลอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้สังกัดกระทรวงยุติธรรม จะตามไปประสานงานอะไรกัน?
พ่วงด้วยการขอเพิ่มเงินเดือนให้มากกว่าข้าราชการทุกฝ่าย อ้างว่าทำงานหนักและเสี่ยงภัยมากมายกว่าทุกหน่วย และ จะได้ไม่ต้องรับส่วยสินบนกันอีกต่อไป?   ข้อเท็จจริงงานตำรวจไม่ได้หนักหรืออันตรายทุกตำแหน่ง งานใดเสี่ยงภัยก็มีเงินเพิ่มพิเศษอยู่แล้วเช่นที่เรียกว่าเงินตำแหน่งป้องกันปราบปราม รวมทั้งเงินรางวัลการจับกุมความผิดต่างๆ มากมาย และ เรื่องส่วยนั้นเขาแบ่งกันเฉพาะตำรวจผู้ใหญ่ ไม่ได้เกี่ยวกับผู้น้อยแต่อย่างใด
และเรื่องการขอเงินเดือนเพิ่มนั้นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจ มีแต่อยากย้ายกลับภูมิลำเนาเท่านั้น
          
งานตำรวจประเทศไทยปัจจุบัน หลายตำแหน่งหลายหน่วยเบาสบายยิ่งกว่าข้าราชการอื่นด้วยซ้ำ เช่น ผู้กำกับ (สอบสวน) ยศพันตำรวจเอกเกือบ 800 คน ปัจจุบันว่างงานเป็นตำรวจประจำกองบัญชาการไม่รู้จะหาอะไรให้ทำ สุดท้ายต้องสั่งให้กลับไปจังหวัด หรือ บก. ไม่มีอำนาจหน้าที่ มีแต่เดินเตร็ดเตร่ไปมา บางคนก็นอนอยู่บ้านรับเงินเดือนเงินตำแหน่งรวมกว่าหกหมื่นทุกคน
หรือผู้กำกับสถานีที่ว่างานหนักสุด ทุกสถานีมีรองผู้กำกับถึงสามคน ผลัดกันอยู่โรงพักคนละ 7 วันก็ยังได้!

ในขณะที่นายอำเภอรับผิดชอบงานมากมายกว่าหลายเท่า แต่เขาไม่มีรองนายอำเภอแม้แต่คนเดียว ยังทำงานกันได้อย่างไร?
ยิ่งแพทย์ พยาบาลนั้น ไม่ต้องพูดถึง โรงพยาบาลในจังหวัดและอำเภอทำงานกันแสนหนักด้วยอัตราคนไข้และต้องเสี่ยงภัยจากโรคร้ายมากมาย
แต่หลายคนหลายตำแหน่งนับหมื่นคนมีฐานะเพียงลูกจ้างประจำไม่มีสวัสดิการและบำเหน็จบำนาญแบบข้าราชการเงินเดือนหมื่นห้าถึงสองหมื่นเท่านั้น!.

- -สำนักข่าว ไทยโพสต์ วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 - -